
หมู่บ้านบนเกาะ กับการเดินทางผ่านยุคสมัย..
กว่า 40 ปีมาแล้ว..ที่เกาะแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจังหวัดกระบี่ได้เดินทางเข้าสู่ยุคแห่งการเปิดประตูสู่ภาคการท่องเที่ยว เกาะที่มีชื่อว่า “เกาะลันตา” ได้เริ่มเปิดเผยโฉมของตัวเองต่อ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว ด้วย 2 เสน่ห์ที่งามงด ทั้งเรื่องราวของธรรมชาติและวิถีแห่งผู้คนบนเกาะ เริ่มดึงดูดผู้คนเข้าสู่เกาะลันตามากขึ้นๆตามวันเวลาที่ผันไป…ความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆเริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้นๆทั้งบวกและลบ ซึ่งก็เป็นปกติตามยุคสมัยแห่งการพัฒนา แต่ลันตาก็คงยังเป็นลันตา..ยังคงมีมุม และเรื่องราวที่ให้ความอบอุ่น แก่ผู้มาเยือนอยู่เสมอ…
ณ หมู่บ้านเล็กๆริมชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกของเกาะลันตาใหญ่..ชื่อว่า “ทุ่งหยีเพ็ง” ซึ่งก็เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ได้เดินทางผ่านยุคสมัยมาพร้อมๆกับเกาะลันตา หากเพียงแต่มีความโชคดีที่ภาคการท่องเที่ยวมิได้ให้ความสำคัญกับฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งมีเพียงป่าชายเลน ซึ่งแตกต่างจากฝั่งตะวันตกของเกาะที่เป็นชายหาดที่มีหาดทรายขาวสวยงามหลายแห่งตามตลอดแนวยาวของเกาะจากเหนือจรดใต้…การลงทุนจึงถ่าโถมไปยังโซนพื้นที่ๆที่ชายหาดต่างๆ ที่พัก สไตล์รีสอร์ทและโรงแรมเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งร้านค้าร้านอาหาร แห่งบันเทิงขนาดย่อยต่างๆก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา..
”ทุ่งหยีเพ็ง” ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลง แห่งเกาะลันตา กับการเรียนรู้การท่องเที่ยวในมุมของการท่องเที่ยวโดยชุมชน.. ณ ปี2540 ผู้คนในชุมชนเริ่มไหลออกสู่ภาคแรงงานการท่องเที่ยว ช่องว่างทางสังคมชุมชนเริ่มก่อเกิดขึ้น คล้ายกับส่งสัญญานว่า หมู่บ้านเล็กๆนี้กำลังจะแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเฉกเช่นกัน..ผู้คนเริ่มไม่มั่นใจในฐานอาชีพเดิมของตนเองนั่นคือ การทำประมง และทำการเกษตร ในขณะที่หลายคนก็เริ่มประกาศขายที่ดินของตนเองตามกระแสของการขายที่ดินที่กำลังเฟื่องฟูในยุคนั้น…จนกระทั้งปี2546 กลุ่มผู้กล้าแห่งทุ่งหยีเพ็ง 2-3 คน ลุกขึ้นประกาศตัวว่าจะนำพาการท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน แต่จะเป็นการท่องเที่ยวที่ออกแบบการพัฒนาด้วยชุมชนเอง ภายใต้แนวคิดการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสร้างงาน และก่อเกิดการจ้างงานในชุมชนและนำพาคนกลับมาจัดการบ้านตนเอง…และประกาศทิศทางในการพัฒนาชุมชนภายใต้คำว่า “Green step village” ทุ่งหยีเพ็ง…ได้เดินทางผ่านยุคสมัยจนถึงวันนี้อย่างสง่างาม แม้บางช่วงของการพัฒนา จำเป็นต้องต่อสู้ทางความคิด กับความคิดที่หลากหลาย แต่กระนั้นวันนี้กลับได้พิสูจน์แล้วว่า…ผู้คนได้กลับบ้าน คนอยู่บ้านแล้วงานทำ ทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ป่าชายเลนที่เคยดูเหมือนไร้ค่า แต่ ณ วันนี้กลับมีมูลค่าเกินกว่าจะบรรยายได้ กลายเป็นป่าชุมชนที่จะเป็นมรดกแห่งทุ่งหยีเพ็งไปชั่วลูกหลาน ที่สำคัญที่สุด…ณ วันนี้ ทุ่งหยีเพ็งที่เคยเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีอะไรเลยในมุมของการท่องเที่ยวกลับเป็นหมู่บ้านที่ช่วยดูแลเกาะลันตาแห่งนี้ในทุกฤดูกาล อุ้มชูภาคการท่องเที่ยวบนเกาะลันตายามวิกฤติให้สามารถขยับไปได้..และสิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากนั้น..ทุ่งหยีเพ็ง กลายเป็นหมู่บ้านยังคงรักษาอดีตแห่งเกาะลันตาให้ผู้คนทั่วโลกได้มีโอกาสสัมผัสกลิ่นอายแห่งความเป็นเกาะทั้งในของเรื่องราวธรรมชาติและผู้คนเอาไว้ จนกลายเป็นอดีตที่ผู้คนต่างโหยหาอยากมาเยือนสักครั่งหนึ่งในชีวิต..ทุ่งหยีเพ็ง กลายเป็นหมู่บ้านเพื่อการพักผผ่อนของผู้คน และมีเรื่องราวที่มากกว่าการท่องเที่ยวซ่อนเสน่ห์อยู่ในหมู่บ้านนี้อีกมากมายนักที่รอการมาสัมผัสของผู้คน….
การเดินทางผ่านยุคสมัย อีกกี่ยุคสมัยในภายภาคหน้า อดีตก็ย่อมสำคัญพอกัน และไม่ว่าเราจะเดินทางไกลเพียงใด แรงบันดาลใจที่สำคัญย่อมหาได้จากข้างหลังเราเสมอ…
”ทุ่งหยีเพ็ง” เกาะลันตา กระบี่



การท่องเที่ยวไปบนโลกใบนี้..หากแท้จริงคือ การตามหาสิ่งที่เรียกว่า ”แรงบันดาลใจ”
Narathon
